ทำงานที่บ้านอย่างไร ให้ผลงานมีคุณภาพและไม่กระทบสุขภาพ

ช่วงปีที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจและเชื้อไวรัสโควิด-19 บีบให้หลายองค์กรปรับแผนให้พนักงานทำงานที่บ้าน ผลปรากฏว่าหลายคนมีอาการปวดข้อมือ ปวดเมื่อยคอ ไหล่หรือหลัง ซึ่งอาจเกิดจากการนั่งทำงานบนโต๊ะกาแฟ เคาน์เตอร์ครัว หรือโซฟาที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับท่านั่งอย่างเหมาะสมเหมือนกับอุปกรณ์ในสำนักงาน หากทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่ลุกเปลี่ยนอิริยาบถคงไม่พ้นอาการออฟฟิศซินโดรมแน่นอน

หลังจากทำงานที่บ้านมาระยะหนึ่งหากคุณพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการปวดเมื่อย ควรมองหาวิธีที่ดีในการทำงานที่บ้าน ซึ่งมีเคล็ดลับง่าย ๆ คือซื้ออุปกรณ์หรือเก้าอี้โต๊ะโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการทำงานและรองรับการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและสร้างผลงานที่ดี ไม่เหนื่อยล้าและเจ็บป่วยง่ายอันเนื่องจากเก้าอี้และโต๊ะมีความสูงไม่เหมาะสมกับการนั่งทำงาน ความสูงของโต๊ะทำงานโดยทั่วไปจะสูงจากพื้น 28-30 นิ้ว ปรับเพิ่มและลดยืดหยุ่นไปตามความสูงของผู้นั่ง

ท็อปเคาน์เตอร์ในครัวมักจะสูงเกินไป แนะนำให้ลองยื่นมือตรงไปข้างหน้าโดยแขนและข้อศอกแนบชิดกับลำตัว โดยแขนและข้อศอกทำมุม 90 องศาเป็นท่าที่เหมาะกับการใช้เมาส์และคีย์บอร์ด ความสูงของหน้าจอคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ระดับสายตาพอดี ไม่ต้องก้มหรือเงย หลีกเลี่ยงอาการปวดศีรษะและคอ ความสูงของเก้าอี้อยู่ในระดับที่วางเท้าราบกับพื้น เพราะถ้านั่งเก้าอี้ตัวสูงเท้าห้อยลงมา จะทำให้สะโพกและหลังส่วนล่างตึงปวด

นอกจากนี้ควรออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงาน สามารถนั่งทำงานอย่างสะดวกสบาย ระดับแสงสว่างเหมาะสม ไม่สว่างจ้าเกินไปหรือสว่างน้อยจนทำให้เมื่อยล้าตา ช่วยลดความเครียดระหว่างทำงาน ควรเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ หยุดพักสั้น ๆ และลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง โต๊ะทำงานเป็นระเบียบและจัดเรียงอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ ไม่วางระเกะระกะ ควรจัดพื้นที่ทำงานเป็นกิจวัตรเพื่อให้หยิบใช้งานได้สะดวกง่ายดายไม่ต้องค้นหาให้เสียเวลา มุมทำงานที่สะอาดตาหรือตกแต่งอย่างสร้างสรรค์นั้น จะช่วยสร้างความสุขและความผ่อนคลายทำให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การใส่ใจสภาพแวดล้อมในการทำงานจะเพิ่มคุณภาพงานได้อย่างแท้จริง

เมื่อจัดการกับอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำงานแล้ว ต่อไปเป็นวิธีจัดการแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการทำงานที่บ้านไม่มีชั่วโมงออฟฟิศที่แน่นอน โดยเฉพาะฝ่ายผู้หญิงที่ต้องควบบทบาทและความรับผิดชอบในการทำงานและครอบครัวไปพร้อมกัน มีตารางชีวิตที่แสนวุ่นวาย ทำให้การแบ่งเวลาทำงานให้เหมาะสมเป็นเรื่องยาก มักจะเร่งทำงานควบสองกะให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จทันกำหนด จึงหนีไม่พ้นอาการปวดเมื่อยแบบออฟฟิศซินโดรมซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง

ความจริงแล้วผู้หญิงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าผู้ชาย สามารถปรับตัวและใช้วิธีการที่ผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับการจัดตารางเวลางานและจัดการหน้าที่ในครอบครัวไม่ให้ขัดแย้งกัน สามารถใช้ชีวิตได้ดีแม้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ถ้าพูดกันในแง่จิตวิทยาแล้ว สำหรับผู้ชายอาจต้องขอเวลาปรับตัวกับการทำงานที่บ้านนานกว่า แต่ท้ายที่สุดก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้และจัดตารางชีวิตได้ดีขึ้น