คิดก่อน ลงทุน รู้เท่าทัน เล่ห์เหลี่ยมแฟรนไชส์

คิดก่อน ลงทุน รู้เท่าทัน เล่ห์เหลี่ยมแฟรนไชส์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เชื่อได้เลยว่าหลายคนคงเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับแฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่นชื่อดังเกี่ยวกับปัญหาการฉ้อโกง ส่งผลให้เกิดความเสียหายนับร้อยล้านบาท ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดปัญหาดังกล่าว หลังจากเฟรนไชส์ดังมีการเปิดสาขาภายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายสาขา ก่อนที่จะเปิดขายแฟรนไชส์ให้บุคคลภายนอกได้ลงทุน แต่จะทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์และไม่ให้โดนหลอกได้

แค่นำเงินมาแล้วรอผลตอบแทน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการซื้อแฟรนไชน์มาลงทุน ก็ควรจะมีส่วนในการเข้าไปบริหารจัดการ เพราะร้านเป็นของคุณ คุณซื้อมาและมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการทุกอย่างภายในร้าน ยกเว้น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งอาจจะต้องสั่งตรงจากเจ้าของแฟรนไชส์ หากแค่ให้นำเงินมาลงทุนแล้วรอรับปันผลหรือผลตอบแทน พึงระลึกไว้เสมอเลยว่าเป็นพฤติกรรมของแชร์ลูกโซ่อย่างแน่นอน

ทำการตลาดเอง

จริง ๆ แล้วการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เจ้าของแฟรนไชส์จะต้องเป็นคนทำการตลาดให้กับคนที่มาซื้อ พร้อมกับระบบการจัดการที่แข็งแกร่ง มีการสนับสนุนให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถประกอบกิจการจนสามารถเดินด้วยลำแข้งของตนเองได้ มิใช่ให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์มาทำการตลาดด้วยตัวคนเดียว จัดโปรเอง เพราะด้วยชื่อเสียงและการตลาดที่แข็งแกร่งจึงจะทำให้สมาชิกเติบโตได้ ไม่อย่างนั้นคงไม่ต้องลงทุนซื้อเฟรนไชส์ หากแต่เปิดร้านในนามของตนเองยังดีเสียกว่า

โปรโมชันที่ถูกเกินจริง

หลายต่อหลายครั้งที่ร้านแฟรนไชส์มีปัญหาและนำมาซึ่งการขาดทุน นั่นคือการทำโปรโมชันที่ถูกเกินจริง โดยเน้นให้ลูกค้าซื้อล่วงหน้าในปริมาณมาก เช่น การออก Voucher ล่วงหน้า, บัตรกำนัลต่าง ๆ ที่ลูกค้าสามารถซื้อได้ในราคาถูก เพราะอย่าลืมว่าหากราคาสินค้าถูกกว่าที่เป็นจริง ทางร้านจะมีกำไรมาจากไหน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีการซื้อทัวร์ต่างประเทศราคาถูก

การเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิต

บ่อยครั้งที่มักจะพบว่าร้านแฟรนไชส์บางร้านมีรสชาติที่เปลี่ยนไป นั่นเพราะมีการลดคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เหตุการณ์นี้อาจเกิดจากผู้ซื้อแฟรนไชส์เองที่ต้องการลดต้นทุน ด้วยการไม่สั่งของจากเจ้าของแฟรนไชส์ หรือเจ้าของแฟรนไชส์มีแอบเปลี่ยนวัตถุดิบคุณภาพต่ำมาให้ ทำให้ร้านได้รับความเสียหาย

ที่ตั้ง สำนักงาน และบุคลากรต้องมิใช่เจ้าของแฟรนไชส์

โดยทั่วไปการที่จะประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ได้ ควรได้รับการจดทะเบียนบริษัท มีที่ตั้งสำนักงานเป็นหลักแหล่ง มีทีมงานแยกตามแผนก ตามฝ่าย มิใช่มีแค่เจ้าของแฟรนไชส์เพียงคนเดียวแล้วทำหมดทุกหน้าที่ เช่น ฝ่ายบุคคล, ฝ่ายบัญชี-การเงินและอื่น ๆ ซึ่งขัดต่อหลักความเป็นจริง

ดังนั้นก่อนลงทุนซื้อแฟรนไชส์ราคาแพงสักแบรนด์หนึ่ง ควรระมัดระวังและตรวจสอบให้ดี โดยเฉพาะประวัติของคู่ค้า การผิดนัดชำระเงินหรือแม้แต่การไปพบปะกับนักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ด้วยกันเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าหากซื้อไปแล้วจะไม่โดยทอดทิ้ง ไม่โกง เพราะเงินที่ท่านนำมาลงทุนอาจสูญสลายหายไปในพริบตาก็เป็นได้